วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

กริช



กริช ความเป็นมาของกริชเป็นอย่างไร ไม่เป็นที่แน่ชัด แต่จากเรื่องราวในเทพนิยายและตำนานกริชนั้นจะเป็อาวุธประจำตัว และสืบทอดให้แก่คนในตระกูลสืบไป ทั้งยังมีคุณค่าในเชิงเป็นศิลปวัตถุที่เป็นมงคลและศักดิ์ศรีของผู้พกพา กริช เป็นคำในภาษาชวา - มลายู ส่วนในภาษาถิ่นยะลาเรียกว่า "กรือเระฮ์" เนื่องจากกริชมีความเกี่ยวข้องกับชาวชวาในสมัยโบราณที่เชื่อในเทพเจ้า ลักษณะของด้ามกริช มักจะทำเป็นรูปสัตว์ในเทพนิยายของชวา และไม่ขัดกับหลักทางศาสนาอิสลาม ส่วนกริชของจังหวัดยะลามีชื่อและประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน คือ กริชเมืองรามัน เป็นกริชตระกูลสำคัญในประวัติของกริชและเป็นที่ขึ้นชื่อมานาน โดยมีประวัติความเป็นมาจากปากคำของผู้สูงอายุเล่าให้ฟังว่า เมื่อประมาณ 300 ปี ที่ผ่านมาเจ้าเมืองรามันประสงค์จะมีกริชไว้ประจำตัว และอาจจะเป็นกริชคู่บ้านคู่เมืองหรือในบางคราวจะได้มีไว้ประทานสำหรับขุนนางผู้จงรักภักดีหรือผู้ทำความดีต่อบ้านเมืองหรือเป็นของขวัญแก่แขกบ้านแขกเมือง แต่กริชดี ๆ ในช่วงนั้นหายากมาก เจ้าเมืองรามันจึงได้ให้คนไปเชิญช่างที่มีฝีมือดีและแก่กล้าด้วยอาคมมาจากชวามาตั้งเป็นช่างประจำเมือง เรียกขานว่า "ปาแนซาระห์" (ปาแน แปลว่า ช่าง ซาระห์ เป็นชื่อที่เจ้าเมืองตั้งให้) ได้มาตั้งบ้านเรือนที่บ้านยะต๊ะ (ตำบลยะต๊ะในปัจจุบัน) เมืองรามันได้ทำกริชตามรูปแบบของตนเองจนเป็นที่รู้จักและได้เรียกชื่อกริชว่า"กริชปาแนซาระห์"ต่อมาได้ถ่ายทอดการทำกริชแก่ลูกศิษย์ 7 คน แต่ละคนได้รับความรู้คนละแบบ และเป็นที่รู้จักแพร่หลาย คือ
1. กริชจือรีตอ 2. กริชอาเนาะลัง 3. กริชสบูฆิส 4. กริชแบกอสบูการ์ 5. กริชปาแนซาระห์ 6. กริชบาหลี 7. กริชแดแบะอาริสหรือกายีอาริส กริชแต่ละแบบมีความแตกต่างกันในรูปและรายละเอียดของตัวกริช ลูกศิษย์ทั้ง 7 คน ของปาแนซาระห์ ได้แยกย้ายไปทำกริชตามรูปแบบที่ตนได้รับการถ่ายทอดในบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้นายเจะเฮง และเซ็ง อายุ 93 ปี ชาวตำบลกะลาพอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เป็นช่างกริชอาวุโสที่มีฝีมือเป็นเลิศทำกริชด้วยชีวิตจิตใจ ได้เล่าว่าอาจารย์ปู่ของท่านซึ่งเป็นศิษย์คนหนึ่งของปาแนซาระห์ มีฝีมือในการทำกริชอย่างยอดเยี่ยม มีคาถาอาคมวิเศษ สามารถจับตัวกริชร้อน ๆ ด้วยมือเปล่าและดัดให้เป็นรูปคดไปมาได้ตามใจ หรือกดประทับลายนิ้วมือไว้บนตัวกริชเป็นเครื่องหมายไว้ แต่คาถาอาคมนี้มีเงื่อนไขพิเศษ คือต้องครองตนอย่างระมัดระวังเป็นที่สุด ที่สำคัญผู้เรียนในบางครั้งจะมีรังสีแห่งความร้อนแผ่พุ่งออกมา เดินไปที่ใดไอร้อนจะทำลายสิ่งรอบข้าง ท่านผู้นี้เล่าให้ฟังว่าอาจารย์ปู่ของท่านเมื่อเดินไปตามคันนา ใบข้าวอ่อน ๆ ข้างทางจะเหี่ยวเฉาไปตลอดทาง ซึ่งสร้างความรำคาญใจกับตนเอง และความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น จึงมักจะไม่มีใครยอมรับการถ่ายทอดคาถาอาคมดังกล่าว ส่วนสำคัญของกริช 1. ตัวกริช หรือเรียกว่า ตากริช หรือ ใบกริช ส่วนนี้เป็นโลหะที่มีส่วนผสมอย่างพิศดาร ตามความเชื่อของช่างกริชหรือผู้สั่งทำกริช หรือทั้งสองฝ่ายตกลงกัน ตัวกริชมีลักษณะตรงโคนกว้าง ส่วนปลายเรียวแหลม มีคมทั้งสองด้าน ตัวกริชมีโครงสร้างที่แตกต่างกันอยู่สองแบบ คือ ตัวกริชแบบใบปรือ กับตัวกริชคด ตัวกริชแบบใบปรือนั้นเป็นรูปยาวตรง ส่วนปลายค่อย ๆ เรียวและบางลงจนบางที่สุดซึ่งอาจจะแหลมหรืออาจจะมนก็แล้วแต่ แบบนี้คล้าย ๆ กับรูปใบปรือ (ปรือ คือพืชน้ำชนิดหนึ่ง มีใบยาว บาง เรียว) กริชใบปรือบางเล่มจะมีร่องลึก ยาวขนานไปกับคมกริช บางเล่มมีร่องลึก 2 - 4 ร่องก็มี ส่วนตัวกริชคดนั้นมีลักษณะคดไปคดมา และค่อย ๆ เรียวยาวลงคล้ายกับเปลวเพลิง การทำกริชให้คดนั้นว่ากันว่ามีจุดประสงค์คือเมื่อใช้แทงจะทำให้บาดแผลเปิดกว้างกว่า และสามารถแทงผ่านกระดูกได้ด้วย การทำตัวกริชในสมัยโบราณมีวิธีการที่พิศดาร กล่าวคือ ต้องเตรียมกระบอกเหล็กเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว ยาวประมาณ 20 นิ้ว เอาชิ้นเหล็กหรือโลหะหลาย ๆ ชนิดรวมทั้งเหล็กกล้า เหล็กเนื้ออ่อน นำมาบรรจุลงในกระบอกเหล็กดังกล่าว ตีกระบอกเหล็กนั้นให้แบนพอเหมาะ นำมาตั้งบนเตาไฟหลอมให้เหล็กนั้นจนเหลวเป็นเนื้อเดียวกัน ถ้าหากว่าชิ้นเหล็กดังกล่าวหลอมไม่เข้ากันสนิท ให้นำชิ้นเหล็กเหล่านั้นมาแช่ลงในน้ำดินเหนียวและตั้งไฟหลอมใหม่ หลอมจนกว่าจะเข้ากันสนิทดีจึงนำมาวางบนแท่นและตีให้แบนเป็นรูปร่างกริชที่ต้องการ ซึ่งต้องใช้เวลามากจากนั้นจึงนำมาฝน ลับและตกแต่งให้เกิดรายละเอียดของลวดลายตามชนิดของกริชตามที่ประสงค์ การหลอม การตี การฝน และลับ ต้องอาศัยจิตใจที่มีความสงบมีสมาธิ และพลังจิตที่สม่ำเสมอ ไม่วอกแวก การกำหนดสัดส่วนของโลหะที่ผสมกัน จะต้องใช้ประสบการณ์ที่สูงส่งจนกระทั่งรู้ได้ว่าสัดส่วนใดที่ดีที่สุด และเนื้อโลหะจะเกิดลวดลายออกมาแบบใด ต้องรักษาระดับความร้อนของไฟในเตาหลอมให้พอดีกับชนิดของโลหะที่จะหลอม ต้องรู้จังหวะและน้ำหนักของกำลังในการใช้ฆ้อนตีเหล็กที่กำลังร้อน ๆ ซึ่งเต็มไปด้วยความประณีตและบรรจง การกระทำดังกล่าวนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ได้กริชที่สวยงาม มีลวดลายที่สูงค่า และเป็นการผลึกเอาจิตใจของผู้ทำเข้าไว้ในตัวกริชอันจะส่งผลในทางที่ดีต่อผู้พกพากริชเล่มนั้นตลอดไป 2. หัวกริช หรือด้ามกริช สำหรับจับนิยมทำเป็นรูปหัวคน หัวสัตว์ ต่อมาเปลี่ยนเป็นรูปทรงเรขาคณิต ที่ไม่ผิดตามหลักศาสนาอิสลาม หัวกริชจะแกะจากวัสดุต่าง ๆ เช่น ไม้เนื้อแข็ง งาช้าง เขาสัตว์ หรือหล่อด้วยโลหะ 3. ปลอกสวมกั่น เป็นส่วนที่ติดกับหัวกริช เพื่อให้หัวกริชยึดติดกับกั่นอย่างมั่นคงและไม่ให้หัวกริชแตกร้าวได้ง่าย นิยมทำด้วยโลหะทองเหลือง เงิน หรือทองคำ และมีการแกะสลักลวดลายที่ประณีต 4. ฝักกริช เป็นที่เก็บคมกริชเพื่อความสะดวกในการพกพา มักจะทำด้วยโลหะชนิดเดียวกับโลหะที่ทำปลอกสวมกั่น และแกะสลักด้วยความประณีตสวยงาม เนื่องจากสภาพสังคมในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนsวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ และค่านิยมจากกริชที่เป็นอาวุธประจำกายได้กลายเป็นศิลปวัตถุ กริชจึงกลายเป็นของที่ระลึกและในบางครั้งมีการย่อส่วนให้มีขนาดเล็กลงกว่าเดิมแต่ยังคงสัดส่วนตามรูปแบบเดิม

ภาพกริช

ไม่มีความคิดเห็น: