วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

การเก็บข้าวด้วยแกะ

การเก็บข้าวด้วยแกะ

ในเอกสารชื่อ

เอกสารมณฑลนครศรีธรรมราชในสมัยที่เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล รศ.115-125 (พ.ศ.2439-2449)”

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ในเวลานั้น ท่านยังเป็นพระยาอยู่ บรรดาศักดิ์และราชทินนามคือ พระยาสุขุมนัยวินิจ
ตำแหน่งข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลาและพัทลุง
ท่านมาตรวจราชการแถวๆ นี้ เมื่อ รศ. 114 (ปี 2438)
ตรวจเสร็จก็เขียนรายงานทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระยศขณะนั้นทรงเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดี (รัฐมนตรี) กระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นด้วย

ด้วยความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง
พอพระยาสุขุมนัยวินิจมาเห็นการเก็บข้าวของชาวบ้านย่านนี้
ท่านก็เขียนรายงานส่วนหนึ่งว่าอย่างนี้ครับ


“...นาปีนี้บริบูรณ์ทั่วกันหมดถึงแก่เก็บไม่ทัน ต้องขายเข้าในก็มีบ้าง มากที่แขวงเมืองนคร เมืองพัทลุงก็เหมือนกัน แต่ข้าพระพุทธเจ้ามีความเสียดายอยู่อีกอย่างหนึ่งซึ่งราษฎรชาวเมืองสงขลา เมืองนคร เมืองพัทลุง มาพากันนิยมในการเก็บเข้า ไม่เกี่ยวเหมือนแถบข้างเหนือ ข้าพระพุทธเจ้าได้ไปยืนดูเขาเก็บออกรำคาญในตาเปนล้นเกล้าฯ เสมือนยืนดูคนมีท้าวบริบูรณ์ดีอยู่แต่ไม่เดิน ใช้คลานหรือคุกเข่าไปตามถนนก็เช่นกัน ถ้าได้เดินดูเข้าไร่หนึ่งฝีมือเก็บเร็วๆ อยู่ใน ๔ วัน ๕ วันจึงจะแล้ว ถ้าเกี่ยววันเดียวหรือวันครึ่งก็แล้วเสร็จ...

..........
..........
หนังสือฉบับนี้ถวายข้อสรุปและความเห็นในประเด็นนี้ว่า
น่าจะแจกเคียวและออกระเบียบให้ชาวบ้านใช้เคียวแทนแกะ!!!!!

สงสัยมั้ยครับ
ว่าพระวินิจฉัยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเป็นอย่างไร?

ทรงวินิจฉัยโดยใจความว่า
จารีตประเพณีหรือวิถีชาวบ้านที่ดำเนินมาเนิ่นนานย่อมต้องมีเหตุผล
ที่ราษฎรไม่ใช้เคียวคงไม่ใช่เพราะไม่รู้จักใช้
แต่คงเพราะเหตุอะไรบางอย่าง
และทรงไม่เห็นด้วยกับที่จะบังคับให้ราษฎรใช้เคียว
อานิสงส์ที่มีเสนาบดีผู้ทรงรอบรู้รอบคอบและละเอียดอ่อนครั้งนั้น
ทำให้เด็กจำนวนนึงมีโอกาสเห็นและสัมผัส
"แกะ"
ในกิจกรรมเก็บข้าววันนี้

เทคนิคที่เกษตรกรใช้ในการคัดพันธุ์ โดยมากคือการเก็บข้าวด้วยแกะหรือเคียว (เครื่องมือเกี่ยวข้าว) เพื่อป้องกันไม่ให้มีข้าวปนอีกทั้งในปักษ์ใต้ฤดูกาลไม่เหมือนภาคอื่นๆ เพราะได้ชื่อว่าเมืองฝนแปดแดดสี่ การเก็บข้าวด้วย แกะ เป็นการควบคุมความชื้นของรวงข้าวที่จะต้องเก็บไว้ในยุ้งฉางเป็นเรือนปีเพราะการทำนาในปักษ์ใต้ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำนาเพื่อการค้าขาย ส่วนใหญ่จะเป็นการทำนาเพื่อเก็บไว้เป็นเสบียงกรังประจำครัวเรือนใช้เพื่อบริโภคของสมาชิกในบ้านไปตลอดปี นอกจากผลิตผลจะมีจำนวนมากก็จะใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์ และจำหน่ายเป็นรายได้ของครัวเรือนอีกทั้งการเก็บเลียงข้าวที่เก็บด้วยแกะสามารถเก็บไว้ในยุ้งข้าวหรือเรินข้าววางซ้อนๆกันได้จำนวนมาก การวางซ้อนจะซ่อนคอรวงข้าวไว้ด้านในเพื่อให้ความชื้นจากคอรวงข้าวรักษาระดับความชื้นที่เหมาะสมตามฤดูกาลและจะวางซ้อนเป็นวงกลมตามขนาดของเรินข้าว โดยซ้อนสูงขึ้นเรื่อยๆตามขนาดความสูงของเรินข้าว เมื่อจะรื้อออกมานวด เซ หรือสี เพื่อจะได้ข้าวสารใช้หุงกิน ก็จะรื้อเอาข้าวเก่ามากินก่อนส่วนข้าวนาปีใหม่จะเก็บไว้กินปีถัดไป นี่เป็นวิธีคิด และวิถีชีวิตที่รู้เท่าทันธรรมชาติของชาวนาปักษ์ใต้

1 ความคิดเห็น:

Schanan กล่าวว่า...

กองเลียงข้าวที่เรียงเก็บในเรินข้าว เรียกว่าลอมข้าว เมื่อจะนำข้าวไปสีก็จะรื้อเลียงข้าวจากลอม ออกไปนวด โดยใช้เท้าเหยียบ จนแยกเมล็ดข้าวและฟางออกจากกัน นำไปสีหรือตำด้วยครกตำข้าว ฝัดให้สะอาดจนได้ข้าวสาร ข้าวที่เก็บด้วยการลอมข้าวด้วยเลียงข้าวสามารถเก็บได้ 4-5 ปี แม้จะทำให้ได้ข้าวสารแดงไปบ้าง แต่สำหรับคนที่นี่ การไม่มีข้าวกินถือเป็นความทุกข์ยิ่งนัก มีข้าวสารแดงกินยังดีกว่า